สัตว์เลี้ยง

ต้นตอ! โรคอุบัติใหม่ เชื้อร้ายติดจากสัตว์มาสู่คน

ต้นตอ! โรคอุบัติใหม่ เชื้อร้ายติดจากสัตว์มาสู่คน

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศโลกกำลังกลายเป็นตัวเร่งก่อโรคอุบัติใหม่ให้เกิดการติดเชื้อแพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างรุนแรง สามารถก้าวกระโดดจากสัตว์มาสู่คนได้ง่ายมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ 2009 และโควิด-19 ต่างสร้างความโกลาหลส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างหนักในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ อันมีปัจจัยจาก “ความชุกชุมของสัตว์พาหะนำโรคบวกกับความสะดวกทางคมนาคม และผู้คนขาดการป้องกัน” ทำให้เปิดช่องโอกาสสัมผัสโรคได้มากขึ้นศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สำหรับ เชื้อไวรัสจากสัตว์ติดต่อสู่คนได้นี้มาจาก “มนุษย์ทำลายระบบนิเวศธรรมชาติ” รุกล้ำพื้นที่ที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าปรับเปลี่ยนให้เป็นชุมชน และแหล่งเพาะปลูกทำมาหากิน

ที่เรียกว่า “กระโจนข้ามสายพันธุ์” เพื่อพัฒนาปรับตัวเองขยายการแพร่ระบาดให้อยู่คู่กับสิ่งมีชีวิตอื่นต่อไปได้เรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุด แล้วในส่วนการแพร่เชื้อไวรัสก็ไม่จำเป็นต้องติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ด้วยกันเสมอไป “แต่มีพาหะอื่นเป็นสื่อตัวกลาง” เช่น ยุง แมลง เห็บ ริ้น ที่นำพาเชื้อจากสัตว์ตัวหนึ่งไปสู่สัตว์ชนิดอื่นได้เช่นกัน สิ่งสำคัญที่ศึกษามา 20 ปี พบไวรัสมากกว่า 20–30 ตระกูล สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ ด้วยเหตุนี้เวลามี “โรคระบาดในคน” มักนำเชื้อโรคปัจจุบันมาเปรียบเทียบเชื้อในอดีตให้แน่ชัดว่าเครื่องมือตรวจ และกระบวนการรักษาแบบเก่า ยังสามารถรองรับได้ผลดีเช่นเดิมอยู่หรือไม่ อย่างกรณีฝีดาษลิงในคนเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1970 มีการระบาดกันมาเป็นระยะในทวีปแอฟริกา กระทั่งปี 2017 เริ่มเห็นความผันผวนของพันธุกรรมเชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่า “สามารถปรับสายพันธุ์” ทำให้อาการของโรครุนแรง จริงๆแล้ว “โรคอุบัติใหม่” ส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์หลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู แพรีด็อก หรือนก ค้างคาว รวมถึงสัตว์ป่าขนาดใหญ่อย่าง ลิง เสือ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องระแวดระวังคือ “นักวิจัยเข้าป่าเพื่อสำรวจค้นคว้าหาเชื้อไวรัสในสัตว์” เพราะอาจเป็นการนำไวรัสจากคนเข้าไปสู่สัตว์ป่าโดยไม่รู้ตัว